รายละเอียด
โรคประหม่ากังวลต่อหน้าสังคม (Social Phobia หรือ Social Anxiety)
วันที่ 30 ต.ค. 2562
เป็นความกังวลเมื่อต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกจ้องมองจากผู้อื่น กลัวว่าตนเองอาจทำอะไรที่น่าอับอายขายหน้า มักเป็นสถานการณ์ที่รู้สึกว่า กำลังตกเป็นเป้าสายตาของคนหลายคน เช่น การพูดหน้าชั้น การพูดในที่ประชุม หรือแม้กระทั่งการเดินเข้าไปในที่คนเยอะๆ และ รู้สึกว่าสายตาหลายๆคู่กำลังมองมาก็จะเกิดความประหม่าขึ้นมาอย่างมาก จนบางคนไม่กล้าเดินเข้าไปในที่มีคนมากๆเพราะกลัวตกเป็นเป้าสายตา
โดยบางคนตอนอยู่ในกลุ่มเพื่อน พูดคุยเก่ง พูดจาคล่องแคล่วร่าเริงดีปกติ แต่เมื่อต้องไปพูดหน้าชั้น กลับพูดไม่ออก เกิดอาการประหม่าอย่างมาก
ลักษณะอาการ
คือ มีความกลัววิตกกังวลเกิดขึ้นเอง แม้ทราบว่าไม่มีเหตุผลสมควรที่จะกลัวกังวลขนาดนั้นแต่ก็อดกลัวกังวลไม่ได้ และมีอาการทางร่างกาย เช่น ใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น เหงื่อแตก ตัวเย็น มือเท้าชา บางคนใจหวิว เหมือนจะเป็นลม บางคนอาจมีอาการปวดปัสสาวะ หรือ อุจจาระได้
ด้วยความกังวลทั้งใจและทางกายนี้ ผู้ป่วยจะพยายามจะหลบเลี่ยงหลีกหนีต่อสิ่งที่กลัวนั้นจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และมักมีอาการนานมายาวนานอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป
และเมื่อพูดนำเสนอ หรือ แสดงออกไปเสร็จ มักจะเก็บความคิดวนไปวนมา และ รู้สึกไม่ค่อยพอใจตัวเอง โดยมักเห็นแต่จุดผิดพลาดของตัวเอง จนทำให้เกิดความกลัวกังวลถ้าต้องพูดหรือแสดงออกในครั้งต่อไป
โรคนี้พบได้ 2-3% ในคนทั่วไป
สาเหตุหลักมี 2 ประการ คือ ด้านจิตใจ และ ด้านร่างกาย
1. สาเหตุด้านจิตใจ
ผลจากอดีต
– เคยมีประสบการณ์อันเลวร้ายในอดีต เช่น เคยพูด หรือ แสดงความคิดเห็นต่อหน้าคนอื่นๆ แล้ว ได้รับการตอบรับที่ไม่ดี หรือ เกิดความรู้สึกอับอาย ประสบการณ์เลวร้ายนั้น จะกลายเป็นแผลในใจ จนเกิดความรู้สึกฝังใจ
– เคยมีอาการประหม่าตื่นเต้นตอนพูด หรือ แสดงออก แล้วถูกคนจับได้ หรือ เกรงว่าคนจะจับได้ เลยเกิดความประหม่า กังวลขึ้นมาทุกครั้งที่ต้องเจอสถานการณ์แบบเดิม
– เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่ พ่อแม่มักวิพากษ์วิจารณ์เด็กตลอด จนเด็กรู้สึกขาดความมั่นใจ มองว่าตนเองไม่เป็นที่น่ายอมรับ หรือ พ่อแม่ที่มักทำให้เด็กรู้สึกอับอาย (shame) หรือ เด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่แคร์สายตาคนอื่นมากๆ อ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบตัวอย่างมาก ยึดถือความคิดเห็น หรือ คำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่นมาก เด็กก็จะสั่นไหว อ่อนไหว และ แคร์สายตาคนอื่นมากไปด้วยเช่นกัน (ที่เรียกว่า แคร์สื่อมาก)
ผลจากตัวเอง
– มักมองตนเองในแง่ลบ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ค่อยเห็นข้อดีของตนเอง ไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตนเอง ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง มีความคิดกับตนเองในแง่ลบบ่อยๆ เช่น ถ้าฉันแสดงตัวตนของฉันออกไป คนจะต้องปฏิเสธฉันแน่นอน หรือ ความคิดเห็นของฉันไม่ได้เรื่อง เป็นต้น
– มีความคาดหวังกับตัวเองมาก มีมาตรฐานกับตัวเองสูง จนไม่ค่อยรู้สึกพอใจกับตัวเองสักที
– รู้สึกว่าตนเองมีปมด้อยอยู่ตลอด มองว่าตนเองสู้คนอื่นไม่ได้ (inferior)
– ขาดความมั่นคงจากภายใน ต้องการการเติมเต็มจากคนภายนอกอย่างมาก จึงสั่นไหว กับสายตาคนอื่นอย่างมาก
– คนที่มีลักษณะวิตกกังวลง่ายอยู่เดิม และ มักชอบคิดเรื่องต่างๆไปล่วงหน้า โดยเฉพาะมักคิดไปในแง่ลบ
ผลอิทธิพลในสังคม หรือ วัฒนธรรม
– สังคมหรือวัฒนธรรม ที่ใช้ความรู้สึกอับอายต่อสายตาคนอื่นเป็นการลงโทษ
– สังคมที่อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
– สังคมที่เน้นเรื่องภาพลักษณ์มาก หรือ มีมาตรฐานสูง
– สังคมที่มักตัดสินคนอื่นๆที่การแสดงออกเป็นหลัก
– สังคมที่อัตราการแข่งขันสูง
– สีงคมที่ไม่คุ้นเคย ก่อให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก
– สังคมที่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคำตำหนิ
เป็นต้น
2. สาเหตุด้านร่างกาย
1) ผลด้านพันธุกรรม พบว่าในญาติพี่น้องของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า
2) ผลจากสารสื่อประสาทในสมอง ที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลหลั่งผิดปกติ ทำให้เกิดความกลัวกังวลง่ายกว่าคนทั่วไป จนเกิดอาการกังวลขึ้นทั้งทางร่ายกายและทางจิตใจไวกว่าปกติ
การรักษา
1. การรักษาด้านจิตใจ
1) พฤติกรรมบำบัด
– การรักษาโดยการเผชิญสิ่งที่กลัว (exposure therapy)
– การใช้เทคนิกผ่อนคลาย (relaxation technique) เช่น นั่งหรือยืนในท่า ที่สบายๆ หายใจเข้าออกช้าๆลึกๆ ไปเรื่อยๆ สัก 3-5 นาที หรือ อาจถึง 10 นาที หรือ มากกว่านี้ได้ ซึ่งวิธีการนี้หลายคนจะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเกิดความสงบมากขึ้น จากร่างกายที่ผ่อนคลายมากขึ้น และ จิตใจที่สงบมากขึ้นทำให้รู้สึกมั่นคงจากภายในมากขึ้นหรือ การจินตนาการถึงสิ่งที่ดี
– การจินตนาการ สถานการณ์จำลอง ที่ตนมักกลัว เพื่อสร้างความคุ้นชินเพื่อลดความกลัวกังวล
และ ถ้ามีการบันทึกความก้าวหน้าของการเผชิญสถานการณ์ที่กลัว จะยิ่งเป็นขวัญและกำลังใจให้กับตนเองได้มากขึ้น
2) การปรับวิธีคิด
ปรับวิธีคิดที่มองตนเอง หรือ สถานการณ์ต่างๆรอบตัวแย่เกินจริงไปมาก จนเกิดความวิตกกังวล หรือ มักแปลความสิ่งต่างๆไปในแง่ลบมากเกินไป การรักษาปรับวิธีคิด หรือ วิธีแปลความสิ่งต่างๆให้เหมาะสมตามความเป็นจริง ให้กลับมามองเห็นสิ่งดีๆ เห็นศักยภาพในตนเอง หรือ แปลความสถานการณ์รอบข้างได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามความเป็นจริง
3) การทำจิตบำบัด
การทำจิตบำบัดแบบเชิงลึก เพื่อหาที่มาและช่วยแก้ไขปมขัดแย้ง ในจิตใจ ซึ่ง รักษาโดยจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยาคลินิค เพื่อให้กลับมารักและยอมรับตัวเองได้อย่างแท้จริง เกิดความรู้สึกมั่นคงขึ้นภายใน จะลดความสั่นไหวต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกลงไปอย่างมาก
2. การรักษาด้านร่างกาย มียาที่ใช้รักษาหลายชนิด
(การใช้ยารักษาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์)
เช่น
กลุ่มยาต้านเศร้า เช่น Serotonon-Specific Reuptake Inhibitors (SSRI)
กลุ่มยาคลายกังวล เช่น ยากลุ่ม benzodiazepine
และ ยาในกลุ่ม beta-adrenergic antagonist เช่น propranolol ใช้ในลดอาการประหม่าทางร่างกาย เช่น ใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น เป็นต้น
การมีความกลัวกังวล หรือ ใส่ใจสายตาต่อสังคมรอบตัวไม่ใช่สิ่งเลวร้าย และ ด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำเพราะทำให้เราเกิดการพัฒนาตนเอง เกิดการกลับมาใคร่ครวญตัวเอง เพราะถ้าไม่มีความแคร์หรือใส่ใจสายตาคนรอบข้างเลย อาจทำให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสม และ ไม่รู้ตัว จนอาจเกิดผลเสียหายต่อตนเองและคนอื่นได้
ดังนั้นการมีความกลัวกังวลบ้าง เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความใส่ใจต่อสิ่งต่างๆมากขึ้น ความกลัวกังวลจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ เพียงแต่ถ้ามีมากเกินไปจะกลายเป็นผลเสียต่อตนเอง และ ต่อคนอื่นได้
การกลับมาดูแลตนเองเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีอาการไม่มากเราอาจสามารถดูแลตัวเองได้ ด้วยการปรับทัศนะคติใหม่ มองตัวเอง และ มองสถานการณ์รอบข้างให้ตรงตามความเป็นจริง มองอย่างมีสติมากขึ้น ทันความคิดด้านลบให้บ่อยขึ้น เพราะหลายครั้งเราคิดมากไปเอง หรือฝึกร่ายกายให้อยู่ในความผ่อนคลายมากขึ้น ดังวิธีที่ได้กล่าวข้างต้น
แต่ถ้ามีอาการมาก การพบแพทย์ เช่น จิตแพทย์เป็นตัวช่วยหนึ่งที่อาจช่วยคุณได้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราเป็นโรคทางจิตหรืออะไร เพียงแต่อาการทางจิตใจบางอย่างมีผลมาจากทางร่ายกายด้วย ดังนั้นการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถือว่าเป็นการรู้จักดูแลตัวเองนะคะ
บทความโดย ผศ.พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี
เครดิตภาพ http://www.brighteyecounselling.co.uk/alcohol-drugs/social-anxiety-disorder/