รายละเอียด
จิตแพทย์คือใคร ต่างจากนักจิตวิทยาอย่างไร
วันที่ 30 ต.ค. 2562
จิตแพทย์ทำอะไรบ้าง?
คำถามแรกจัดเป็นปัญหาโลกแตก และในชีวิตจริงก็โดนเรียกสลับกันบ่อยๆ
เรียกนักจิตวิทยาว่าหมอบ้าง เรียกหมอว่านักจิตวิทยาบ้าง แม้กระทั่งสื่อต่างๆ ยังลงผิดกันเป็นประจำ
จิตแพทย์คืออะไร???
หมอที่หลายๆคนกลัว ไม่อยากไปเจอโดยเด็ดขาด ….. หากถามว่าจิตแพทย์คืออะไร
ตามพจนานุกรมบอกว่า จิตแพทย์ (Psychiatrist) คือ แพทย์ผู้รักษาโรคทางจิต ซึ่งมีอาการแสดงความรู้สึก ความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมที่ผิดปกติ
หากเอาตามนิยามแพทยสภา จิตแพทย์ คือ แพทย์ผู้ที่ผ่านการอบรม สอบได้วุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตร ทางด้านจิตเวช
ดังนั้นเส้นทางของการเป็นจิตแพทย์คือ เรียนแพทย์ทั่วไป (6 ปี) —> (+/- ไปทำงานเพิ่มพูนทักษะในต่างจังหวัดหรือที่เรียกสั้นๆว่า ใช้ทุน อีก1-3ปี) —> จากนั้นเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตเวช (Psychiatry) ต่ออีก 3 ปีสำหรับจิตแพทย์ทั่วไป (หรือเรียกกันว่าจิตแพทย์ผู้ใหญ่) หรือ 4 ปีสำหรับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
สรุปคือกว่าจะจบเป็นจิตแพทย์ได้ต้องเรียนมา”อย่างน้อย” 9 ปีครับ ”
เวลาเจอจิตแพทย์หน้าตาเด็กๆ ให้นึกไว้นะครับว่า เค้าเรียนมาอย่างน้อยๆ ก็ปาไป 9 ปีแล้วครับ อายุอาจไม่เด็กเท่าหน้า
จะเห็นว่าจิตแพทย์เองก็ต้องจบแพทย์มาก่อน จึงมีความรู้ความสามารถในระดับแพทย์ทั่วไปด้วย จึงรักษาโรคทั่วๆ ไป อย่างเป็นหวัด เบาหวาน ความดัน ฯลฯ ได้ครับ (ผมเคยเจอคนไข้ถามว่า หมอรักษาความดันสูงได้ด้วยเหรอ ”)
ส่วนนักจิตวิทยา (Psychologist) นั้นไม่ได้เป็นแพทย์
แต่เป็นผู้ที่ศึกษาจบสาขาจิตวิทยา (Psychology) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ , กระบวนความคิด, และพฤติกรรม ของมนุษย์ โดยใช้เวลาเรียน 4 ปีสำหรับระดับปริญญาตรี
ในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยเปิดสอนจำนวนมาก เช่น คณะจิตวิทยาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
ซึ่งนักจิตฯ เองก็มีหลายสาขาความถนัด เช่นกัน เช่น-นักจิตวิทยาคลินิก : เรียนหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี สาขาจิตวิทยาคลินิค ต่อด้วยหลักสูตรอบรมอีก 6 เดือน และสอบเพื่อให้ได้ใบประกอบโรคศิลปสาขาจิตวิทยาคลินิก เป็นต้น
———————-
” ไม่ได้บ้า จะไปหาจิตแพทย์ทำไม “
หากพูดถึงคำว่า “บ้า” ที่ใช้กันทั่วๆไปนั้น .. เอาจริงๆ ผมก็ไม่แน่ใจว่าทางการแพทย์มันจะหมายถึงอะไรกันแน่? เข้าใจเอาเองว่าในความหมายของคนส่วนใหญ่ น่าจะหมายถึงผู้ป่วยจิตเภท (schizophrenia) คือมีหูแว่ว ประสาทหลอน หวาดระแวง มีท่าทางแปลกๆ (ในกรณีที่เป็นหนักๆ)
ถามว่าต้องเป็นผู้ป่วยจิตเภทเท่านั้นหรือที่ควรพบจิตแพทย์ หรือในอีกนัยหนึ่ง คือ จิตแพทย์ตรวจได้แต่โรคจิตเภทเท่านั้น?! … คงบอกว่าไม่ใช่ และคงไม่ต้องรอให้เป็นอะไรมากๆ จนเรียกว่า “บ้า” แล้วค่อยไปพบจิตแพทย์
จิตแพทย์รักษาอะไร หรือทำอะไรได้บ้าง
หลักๆนั้นคงแบ่งได้เป็น
1. ให้คำปรึกษา แนะนำ
ในกรณีคือไม่ได้เจ็บป่วย ไม่ได้เป็นโรคอะไร ก็สามารถรับคำปรึกษาได้ ที่มีปรึกษากันบ่อย ๆ ได้แก่ ปัญหาครอบครัว ปัญหาเรื่องลูก ปัญหาการเรียน ปัญหาชีวิตคู่ ปรึกษาก่อนแต่งงาน (premarital counseling) ปัญหาความขัดแย้งในใจ … โดยพบว่าถ้าเป็นจิตแพทย์ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแพทย์ก็มักจะได้ตำแหน่งพ่วงเป็นที่ปรึกษาสำหรับนักศึกษาไปด้วย เป็นต้น
2. โรคทางจิตเวช (Psychiatric disorders)
ยกตัวอย่างโรคที่พบบ่อยได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรควิตกกังวล โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคที่สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของ “สารสื่อประสาท” (neurotransmitter) ในสมอง
3. โรคทางระบบประสาท (Neurology) และประสาทจิตเวช (Neuropsychiatry)
กลุ่มนี้มักเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ทราบว่าจิตแพทย์ยุคใหม่ก็สามารถตรวจรักษาได้ และว่ากันตามจริงแม้แต่แพทย์ด้วยกันเองบางทีก็ยังไม่รู้
โรคในกลุ่มนี้ได้แก่ โรคที่เกิดจากความผิดปกติ”โครงสร้าง”บางส่วนของสมอง แล้วมีผลทำให้เกิดปัญหาเรื่องอารมณ์ พฤติกรรมและอาการทางจิต ยกตัวอย่างเช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ภาวะบาดเจ็บที่สมอง (Traumatic brain injury) เป็นต้น
อย่างทุกวันนี้ผมเอง(ซึ่งเป็นจิตแพทย์) ก็เป็นคนดูแลคลินิกความจำอยู่
4. เป็นส่วนหนึ่งในทีมรักษาร่วมกับแพทย์สาขาอื่นๆ
ในปัจจุบันจิตแพทย์มักเป็นถูกรวมเข้าในทีมการรักษาต่างๆ เพื่อร่วมกันดูแลรักษาในแบบองค์รวม ยกตัวอย่าง เช่น หน่วยผู้ป่วยวาระสุดท้าย (end of life care) , หน่วยรักษาความเจ็บปวด (pain unit) , การปลูกถ่ายอวัยวะ (organ transplantation) หน่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke unit) เป็นต้น ซึ่งจะประกอบด้วยแพทย์หลายสาขาร่วมกันดูแล และที่มักจะขาดไม่ได้คือจิตแพทย์ด้วย
ดังนั้นหากใครไปนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ แล้วพบว่ามีจิตแพทย์เดินป้วนเปี้ยนไปดู ท่านก็อย่าแปลกใจเลยนะครับ เพราะอย่างที่บอกเป็นการช่วยกันดูแลแบบเป็นทีม-หลายแผนก (ผมเคยเดินไปดูแล้วคนไข้ไม่ยอมคุยด้วยบอกว่าไม่ได้บ้ามาทำไม ” )
ดังที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าบทบาทของจิตแพทย์นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่คำว่า ”บ้า”เท่านั้น แต่หากเป็นอย่างอื่น หรือไม่เป็นอะไรเลยแค่อยากปรึกษา ก็สามารถไปพบจิตแพทย์ได้
ผู้เขียนเองอยากให้ประเทศไทย เป็นเหมือนอย่างในอเมริกาหรือประเทศทางตะวันตก ที่การไปพบจิตแพทย์นั้นเป็นเรื่องปกติไม่ได้แปลกอะไร เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป
และสุดท้ายอย่าลืมนะครับว่าจิตแพทย์ก็ไม่ได้รักษาได้แต่โรคจิตเภทเท่านั้น ยังสามารถรักษาโรคอื่น ๆ ได้อีกมาก (ถ้ารักษาได้แค่โรคเดียวจะเรียนกันทำไมตั้ง 3 ปี)
บทความโดย หมอคลองหลวง จาก Facebook สมาคมจิตแพทย์แห่งะประเทศไทย
ที่มา : https://thaipsychiatry.wordpress.com/