Thai Society for Affective Disorders; TSAD TSAD

โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorders) / นพ.มาโนช หล่อตระกูล

รายละเอียด

โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorders) / นพ.มาโนช หล่อตระกูล

วันที่ 30 ต.ค. 2562

โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorders) / นพ.มาโนช หล่อตระกูล

โรคอารมณ์สองขั้วเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ผู้ที่เป็นจะมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน 2 แบบ แบบแรกมีลักษณะอารมณ์และพฤติกรรมออกเป็นแบบซึมเศร้า แบบที่สองมีลักษณะคึกคักพลุ่งพล่าน  ซึ่งเรียกว่าเมเนีย (mania)

จากภาพจะเห็นว่าผู้ที่เป็นจะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากปกติเป็นช่วงๆ โดยเป็นแบบซึมเศร้าตามด้วยช่วงเวลาที่เป็นปกติดี จากนั้นอีกเป็นปีอาจเกิดอาการแบบเมเนียขึ้นมา บางคนอาจเริ่มต้นด้วยอาการแบบเมเนียก่อนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องตามด้วยอาการด้านตรงข้ามเสมอไป เช่น อาจมีอาการแบบ ซึมเศร้า – ปกติ – ซึมเศร้า – เมเนีย

เขามีอาการอย่างไร
ผู้ที่เป็นจะมีอาการแสดงออกมาทั้งในด้านอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม โดยในแต่ละระยะจะมีอาการนานหลายสัปดาห์ จนอาจถึงหลายเดือนหากไม่ได้รับการรักษา

ในระยะซึมเศร้า ผู้ที่เป็นจะรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด จากเดิมชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ติดละคร หรือดูข่าว ก็ไม่สนใจติดตาม อะไรๆ ก็ไม่เพลินใจไปหมด คุณยายบางคนหลานๆ มาเยี่ยมจากต่างจังหวัดแทนที่จะดีใจกลับรู้สึกเฉยๆ   บางคนจะมีอาการซึมเศร้า อารมณ์อ่อนไหวง่าย ร้องไห้เป็นว่าเล่น  บางคนจะหงุดหงิด ขวางหูขวางตาไปหมด ทนเสียงดังไม่ได้ ไม่อยากให้ใครมาวุ่นวาย  อาการเบื่อเป็นมากจนแม้แต่อาหารการกินก็ไม่สนใจ บางคนน้ำหนักลดฮวบฮาบสัปดาห์ละ 2-3 กก.ก็มี  เขาจะนั่งอยู่เฉยๆ ได้เป็นชั่วโมงๆ  ความจำก็แย่ลง มักหลงๆ ลืมๆ เพราะใจลอย ตัดสินใจอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจไปเสียหมด เขาจะมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบไปหมด คิดว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น ไม่มีใครสนใจตนเอง ถ้าตายไปคงจะดีจะพ้นทุกข์เสียที  หากญาติหรือคนใกล้ชิดเห็นเขามีท่าทีบ่นไม่รู้จะอยู่ไปทำไม หรือพูดทำนองฝากฝัง สั่งเสีย อย่ามองข้ามหรือต่อว่าเขาว่าอย่าคิดมาก แต่ให้สนใจพยายามพูดคุยกับเขา รับฟังสิ่งที่เขาเล่าให้มากๆ ถ้ารู้สึกไม่เข้าใจหรือมองแล้วไม่ค่อยดี ขอแนะนำให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว

ในทางตรงกันข้าม ในระยะเมเนีย เขาจะมีอาการเปลี่ยนไปอีกขั้วหนึ่งเลย เขาจะมั่นใจตัวเองมาก รู้สึกว่าตัวเองเก่ง ความคิดไอเดียต่างๆ แล่นกระฉูด เวลาคิดอะไรจะมองข้ามไป 2-3 ช็อตจนคนตามไม่ทัน การพูดจาจะลื่นไหลพูดเก่ง คล่องแคล่ว มนุษยสัมพันธ์ดี เรียกว่าเจอใครก็เข้าไปทักไปคุย เห็นใครก็อยากจะช่วย  ช่วงนี้เขาจะหน้าใหญ่ใจโต ใช้จ่ายเกินตัว ถ้าเป็นคุณตาคุณยายก็บริจาคเงินเข้าวัดจนลูกหลานระอา ถ้าเป็นเจ้าของบริษัทก็จัดงานเลี้ยง แจกโบนัส มีโครงการโปรเจคต่างๆ มากมาย   พลังของเขาจะมีเหลือเฟือ นอนดึกเพราะมีเรื่องให้ทำเยอะแยะไปหมด ตีสี่ก็ตื่นแล้ว ตื่นมาก็ทำโน่นทำนี่เลย ด้วยความที่เขาสนใจสิ่งต่างๆ มากมาย จึงทำให้เขาวอกแวกมาก ไม่สามารถอดทนทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ เขาทำงานเยอะ แต่ก็ไม่เสร็จเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ความยับยั้งชั่งใจตนเองมีน้อยมากเรียกว่าพอนึกอยากจะทำอะไรต้องทำทันที หากมีใครมาห้ามจะโกรธรุนแรง  อาการในระยะนี้หากเป็นมากๆ จะพูดไม่หยุด เสียงดัง เอาแต่ใจตัวเอง โกรธรุนแรงถึงขั้นอาละวาดถ้ามีคนขัดขวาง

อาการระยะซึมเศร้าจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อย ไป มักเป็นหลังมีเรื่องกระทบกระเทือนใจ เช่น สอบตก เปลี่ยนงาน มีปัญหาครอบครัว แต่จะต่างจากปกติคือเขาจะเศร้าไม่เลิก งานการทำไม่ได้ ขาดงานบ่อยๆ มักเป็นนานเป็นเดือนๆ

อาการระยะเมเนียมักเกิดขึ้นเร็ว และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนภายใน 2-3 สัปดาห์อาการจะเต็มที่อารมณ์รุนแรง ก้าวร้าวจนญาติจะรับไม่ไหวต้องพามาโรงพยาบาล อาการในครั้งแรกๆ จะเกิดหลังมีเรื่องกดดัน แต่หากเป็นหลายๆ ครั้งก็มักเป็นขึ้นมาเองโดยที่ไม่มีปัญหาอะไรมากระตุ้นเลย

ข้อสังเกตประการหนึ่งคือคนที่อยู่ในระยะเมเนียจะไม่คิดว่าตัวเองผิดปกติ มองว่าช่วงนี้ตัวเองอารมณ์ดีหรือใครๆ ก็ขยันกันได้ ในขณะที่หากเป็นระยะซึมเศร้าคนที่เป็นจะพอบอกได้ว่าตนเองเปลี่ยนไปจากเดิม
ในระยะซึมเศร้าหากคนใกล้ชิดสนใจมักสังเกตไม่ยากเพราะเขาจะซึมลงดูอมทุกข์  แต่อาการแบบเมเนียจะบอกยากโดยเฉพาะในระยะแรกๆ ที่อาการยังไม่มาก เพราะดูเหมือนเขาจะเป็นแค่คนขยันอารมณ์ดีเท่านั้นเอง แต่ถ้าสังเกตจริงๆ ก็จะเห็นว่าลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ตัวตนของเขา เขาจะดูเวอร์กว่าปกติไปมาก

อาการในระยะซึมเศร้า อาการในระยะแมเนีย
·        มีอาการซึมเศร้า  หรือเบื่อหน่าย ความสนใจ
หรือความเพลินใจในสิ่งต่างๆ ลดลงอย่างมาก
·        มีอารมณ์ครึกครื้น แสดงออกอย่างเต็มที่ หรืออารมณ์หงุดหงิดมากเกินปกติ
·        รู้สึกตนเองไร้ค่า เป็นภาระ หรือรู้สึกผิด ·        รู้สึกว่าตนเองเก่ง หรือมีความสำคัญมาก
·        นอนไม่หลับ หรือนอนมากกว่าปกติ ·        ต้องการนอนลดลง
·        เชื่องช้า หรือกระวนกระวาย ·        ความคิดพรั่งพรู แล่นเร็ว
·        อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ·        มีพลัง มีกิจกรรม โครงการต่างๆ มากมาย
·        สมาธิลดลง ลังเลใจ ·        วอกแวก สนใจไปทุกสิ่งทุกอย่าง
·        คิดอยากตาย ·        หุนหันพลันแล่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
·        เบื่ออาหาร ผอมลง  

การวินิจฉัย
ไม่มีการตรวจพิเศษเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ ข้อมูลหลักในการวินิจฉัยคือ การซักประวัติอาการ ความเป็นไปของโรค ความเจ็บป่วยทางจิตในญาติ  การใช้ยาและสารต่างๆ  หรือโรคประจำตัว เพราะยาบางขนานหรือโรคทางร่างกายบางโรคอาจมีอาการทางจิตเหมือนกับโรคอารมณ์ สองขั้วได้  แพทย์จะนำข้อมูลได้จากผู้ที่เป็นและญาติ ร่วมไปกับการตรวจร่างกายและตรวจสภาพจิตมาประมวลกันเพื่อการวินิจฉัย

แล้วโรคอารมณ์สองขั้วเกิดจากอะไรล่ะ
โรคอารมณ์สองขั้วไม่ได้เป็นจากเขามีจิตใจอ่อนแอหรือคิดมากอย่างที่ คนอื่นมักมองกัน  แต่เป็นจากความผิดปกติทางสมอง  พบว่าผู้ที่เป็นโรคนี้มีการทำงานของสมองและสารเคมีในสมองซึ่งทำหน้าที่สื่อ สารระหว่างเซลล์ประสาทแปรปรวนไป

ผู้ที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้วมักมีประวัติญาติป่วยเป็นโรคทางอารมณ์   ลูกของเขามีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 8 เท่า   สิ่งที่ถ่ายทอดเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เมื่อผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นเหล่านี้พบเหตุกดดันทางจิตใจ เช่น ตกงาน ญาติเสียชีวิต  หรือมีการเสพยาใช้สารต่างๆ  ก็จะไปกระตุ้นให้แนวโน้มการเกิดโรคที่แฝงเร้นอยู่นี้สำแดงอาการออกมา

แนวทางการรักษา
การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาหลักในโรคนี้ แทพย๋จ่ายยาร่วมกับการช่วยเหลือให้คำปรึกษาทางจิตใจเพื่อช่วยผู้ที่เป็นใน การปรับตัวกับสังคม และจัดการกับปัญหาต่างๆ ในชีวิต

ระยะซึมเศร้า
แล้วจะต้องกินยาไปนานเท่าไร ?  โดยทั่วไปหากเป็นการป่วยครั้งแรกหลังจากที่แพทย์รักษาจนผู้ป่วยอาการกลับสู่ ปกติแล้ว จะให้ยากินต่อไปอีกจนครบ 6 เดือน แล้วค่อยๆ ลดยาลงจนหยุดไป โดยทั่วไปก็ใช้เวลาเกือบปี

การป้องกัน
ผู้ที่มีอาการกำเริบ 2 ครั้งขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นแบบเมเนียหรือซึมเศร้า ควรกินยาป้องกันระยะยาว โดยทั่วไปแพทย์จะให้กินนานอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป

อยู่อย่างเข้าใจโรคอารมณ์สองขั้ว
การกินยาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำ ให้สามารถควบคุมอาการได้ดี รวมทั้งสามารถป้องกันการกำเริบในครั้งต่อไป  และควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อประเมินผลการรักษาตลอดจนผลข้างเคียงจากยา แพทย์อาจปรับยาเป็นช่วงๆ ตามแต่อาการของโรค  ควรบอกแพทย์อย่างไม่ปิดบังถึงอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ  โดยเฉพาะหากไม่แน่ใจว่าเป็นช่วงที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงหรือไม่

การปฏิบัติตัวที่สำคัญในโรคนี้ได้แก่การรักษา ความสม่ำเสมอในการดำเนินกิจวัตรพื้นฐานประจำวัน ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการนอน  พบว่าการนอนน้อยติดต่อกันหลายวันทำให้อาการแกว่งไกวได้ จึงควรเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงการนอนดึก หรือดื่มแอลกอฮอล์

ในช่วงที่เริ่มมีอาการเมเนียให้เลี่ยงการตัดสินใจที่สำคัญๆ หาหลักควบคุมการใช้เงิน (เช่นฝากเงินไว้กับภรรยา) หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์มากๆ ให้คนใกล้ชิดและญาติคอยเตือนเมื่อเห็นว่าตนเองมีพฤติกรรมที่อาจไม่เหมาะสม

ในช่วงซึมเศร้า เลี่ยงการตัดสินใจที่สำคัญๆ เช่น ลาออกจากงาน การออกกำลังกายช่วยได้โดยในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไม่มาก จะรู้สึกว่าจิตใจคลายความเศร้า และแจ่มใสขึ้นได้ แต่หากอาการมากอยู่ อย่ากดดันตัวเองให้ทำสิ่งต่างๆได้เหมือนเดิม ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ยังต้องการการพักผ่อน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไปกลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง

การเข้าใจจากคนใกล้ชิดและญาติมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่เป็นมีกำลังใจในการรักษาให้ตนเองกลับสู่ปกติ ญาติยังมีส่วนสำคัญในการสังเกตว่าผู้ที่เป็นมีอาการกลับเป็นซ้ำหรือไม่ โดยในช่วงแรกที่อาการยังไม่มาก ผู้ที่เป็นจะไม่ทราบว่าตนเองเปลี่ยนแปลงไป

สรุป
โรคอารมณ์สองขั้วเป็นจากความผิดปกติทางสมอง ไม่ได้เกิดจากคิดมากหรือพ่อแม่เลี้ยงดูไม่ดี โรครักษาได้ ยาใหม่ๆ มีมาก หากไม่แน่ใจว่าตนเองเป็นหรือเปล่าก็ไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาก่อนก็ได้ คนที่เป็นแล้วก็ควรติดตามการรักษาอย่างส่ำเสมอ มีปัญหาอะไรก็บอกแพทย์ เพื่อที่จะได้ปรับให้ผลการรักษาออกมาดีที่สุด ญาติมีส่วนสำคัญมาก พบว่าผู้ป่วยที่ญาติเข้าใจ สนับสนุนให้กำลังใจ จะมีอาการโดยรวมแกว่งไกวน้อยกว่าครอบครัวที่ไม่เข้าใจหรือไม่สนใจผู้ป่วย

ท่านสามารถดู VDO เกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมได้โดย click ที่นี่

บทความโดย ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล รพ.รามาธิบดี